ภาคอุตสาหกรรมกับการเตรียมการรับมือ EPR และบรรจุภัณฑ์ EP.1 Start with WHY… ทำไมภาคอุตสาหกรรมจึงต้องเตรียมการรับมือ EPR
Start with WHY…
ทำไมภาคอุตสาหกรรมจึงต้องเตรียมการรับมือ EPR
จากสถานการณ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาขยะที่นับวันจะสร้างปัญหาให้กับทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงปัญหาขยะพลาสติกที่ลอยอยู่กลางทะเล ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสัตว์ทะเล ทำให้ทุกประเทศต้องหันกลับมาขบคิดแนวทางแก้ปัญหานี้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่อาจประสบปัญหาน้อยกว่า เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและความพร้อมในการรองรับการจัดการของเสียที่มีประสิทธิภาพ แต่ในประเทศที่กำลังพัฒนา พบว่าส่วนใหญ่ยังไม่มีระบบการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ขยะหลุดรอดลงสู่ทะเลเป็นจำนวนมาก และประเทศไทย นับเป็นอีกประเทศที่ประสบปัญหาดังกล่าว
….เนื่องด้วย ความต้องการในการบริโภครวมถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการ กลายเป็นต้นเหตุให้บรรจุภัณฑ์มีความหลากหลายมากขึ้น อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายกำหนดบทบาทให้ประชาชนคัดแยกขยะในครัวเรือน รวมถึงท้องถิ่นที่มีหน้าที่ในการจัดการขยะจากครัวเรือนไม่มีระบบรองรับการคัดแยก รวมถึงภาคเอกชนไม่เข้ามาลงทุนในธุรกิจรีไซเคิลมากนัก จึงกลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาขยะล้นเมืองและขยะลงสู่ทะเล EPR (Extended Producer Responsibility) หรือหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต จึงกลายมาเป็นทางเลือกหนึ่งที่ภาครัฐให้ความสนใจ และภาครัฐไม่ใช่เพียงแค่การนำแนวทางการผลักดันภาคเอกชน โดยไม่มีอาวุธที่จะกำกับให้ทุกฝ่ายดำเนินการบนมาตรฐานเดียวกัน แต่มองไปจนถึงการยกร่างกฎหมาย เพื่อให้เกิดบทบัญญัติกลางที่ให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม
อีกแรงกระตุ้นหนึ่งที่ทำให้ EPR ไม่ใช่แค่แนวคิดอีกต่อไป คือ กระแสการพัฒนามาตรการต่างๆ ในเวทีโลก ทั้งมาตรการกำหนดคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่ส่งไปจำหน่ายที่ทั้งใช้แนวทางการแบน การลด หรือการกำหนดสัดส่วนวัสดุรีไซเคิล หรือ recycle content ที่ทำให้ผู้ส่งออกต้องปรับตัว รวมถึงในปี 2565-2567 ในเวทีโลก อย่างสหประชาชาติ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 ในการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 5 ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา จนมีมติในการจัดทำเครื่องมือผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับมลภาวะพลาสติก รวมถึงในสิ่งแวดล้อมทางทะเลด้วย จึงทำให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล (INC) เพื่อพัฒนา “เครื่องมือ” ซึ่งจะต้องยึดตามแนวทางที่ครอบคลุมซึ่งครอบคลุมถึงวงจรชีวิตของพลาสติกทั้งหมด รวมถึงการผลิต การออกแบบ และการกำจัด
การประชุมของ INC ได้กล่าวถึง “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” หรือ “Global Plastic Treaty” ซึ่งคาดหวังว่าจะมาตรการทางกฎหมายนี้จะต้องมีความสำคัญ และมีขอบเขตอำนาจสูง โดยครอบคลุมวงจรชีวิตของพลาสติก โดยกำหนดให้มีมาตรการในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่การผลิต การออกแบบผลิตภัณฑ์ การใช้งาน การใช้ซ้ำ การรีไซเคิล การจัดการขยะ การฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อน และการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมสำหรับผู้ที่อาจได้รับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบแล้ว
ที่ผ่านมา ได้จัดประชุมไปแล้วทั้งสิ้น 4 ครั้ง ครั้งแรก หรือ INC-1 จัดขึ้นที่เมืองปุนตาเดลเอสเต ประเทศอุรุกวัย ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายนถึง 2 ธันวาคม 2565 ครั้งที่ 2 (INC-2) ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคมถึง 2 มิถุนายน 2566 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ครั้งที่สาม (INC-3) ถือเป็นจุดกึ่งกลางของกระบวนการตั้งแต่วันที่ 13 ถึง 19 พฤศจิกายน 2566 ที่เมืองไนโรบี ประเทศเคนยา ครั้งที่ 4 (INC-4) ตั้งแต่วันที่ 23 ถึง 29 เมษายน 2567 ที่เมืองออตตาวา ประเทศแคนาดา และครั้งที่ 5 (INC-5) กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 25 พฤศจิกายนถึง 1 ธันวาคม 2567 ที่เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี และในต้นปี 2568 คาดการณ์ว่าจะเข้าสู่ขั้นตอนการประกาศรายละเอียดในสนธิสัญญา และเปิดในลงนาม ทั้งนี้ EPR เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ สนธิสัญญาฉบับนี้ นำมากำหนดกรอบแนวทางให้ทุกประเทศดำเนินการ ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้เลย ที่ EPR จะไม่ถูกนำมาใช้ในประเทศไทย เพราะกระแสต่างๆ กำลังหนุนให้ EPR เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ ติดตามอ่านต่อใน EP.2