ภาคอุตสาหกรรมกับการเตรียมการรับมือ EPR และบรรจุภัณฑ์ EP.2

จากความจำเป็นการนำหลักการ EPR มาพัฒนาในการเป็นกฎหมายในประเทศไทยที่ปรากฎใน EP.1 ไปแล้วนั้น ทำให้เห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมเราจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับหลักการนี้อย่างจริงจังมากขึ้น เพราะหลักการนี้เมื่อนำมาใช้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพราะที่ผ่านภาคอุตสาหกรรมมองหน้าที่ของการจัดการขยะ เป็นของหน่วยงานท้องถิ่น อย่างกรุงเทพมหานคร หรือเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล แต่ด้วยปริมมณที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผนวกกับการที่ประเทศไทยไม่ได้วางแผนการจัดการขยะในทิศทางของการนำกลับมาใช้ใหม่ ทำให้ข้อจำกัดที่สำคัญอย่างโครงสร้างพื้นฐาน กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อหลักการ EPR เพราะต้นทุนของการนำกลับหมุนเวียนส่วนใหญ่จะอยู่ที่ระบบคัดแยกและขนส่ง ซึ่งไทยเราใช้รูปแบบการจัดเก็บแบบรวม ดังนั้น การปรับโครงสร้างการจัดเก็บขยะใหม่ทั้งประเทศ จึงถือเป็นงานหินที่ภาครัฐก็ได้แต่ก่ายหน้าผากดีดลูกคิด เห็นแต่เม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่ต้องนำมาลงทุนในส่วนนี้ ดังนั้น เมื่อภาครัฐหันมามองเอกชน ก็เกิดประกายการหาตัวหารที่จะมาร่วมด้วยช่วยกันในการรับมือ แต่ติดอยู่ว่า ใครจะเริ่มก่อน.. สุดท้าย กฎหมายจึงกลายเป็นทางออกของปัญหานี้

หลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) หมายถึง การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปยังช่วงต่าง ๆ ของวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ที่เป็นแนวทางให้ผู้ผลิตคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ กระจายสินค้า​ การรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ และการบำบัด

ในต่างประเทศ EPR มักดำเนินการในรูปแบบของกฎหมาย ที่ให้ภาคเอกชนรับผิดชอบด้วยการสนับสนุนให้เกิดการนำกลับบรรจุภัณฑ์ ทั้งในรูปแบบของตัวเงิน (ค่าธรรมเนียม) ที่นำมาใช้ในการสนับสนุนระบบจัดเก็บและคัดแยก  หรืออาจมาในรูปแบบขององค์กรความรับผิดชอบของผู้ผลิต” (Producer Responsibility Organization: PRO) ในการดำเนินการจัดเก็บและรวบรวม โดยมีเป้าหมายเป็นตัวตั้ง ซึ่งเป้าหมายที่ว่านี้ ก็คือ อัตราการรีไซเคิล ซึ่งในบางประเทศ ก็มีการนำเอาอัตรารีไซเคิลมาใช้ในการคำนวณค่าธรรมเนียม ซึ่งการเก็บค่าธรรมเนียมและนำมาบริหารระบบจัดการบรรจุภัณฑ์ในแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกัน บางประเทศดำเนินการโดยภาครัฐ รัฐดำเนินการเอง บริหารเอง หรืออาจมีในรูปแบบของการบริหารผ่าน PRO โดย PRO จะเป็นผู้ดำเนินการโดยใช้เงินจากกองทุนที่มาจากค่าธรรมเนียม ซึ่งการดำเนินงานที่แตกต่างกันนี้เอง ทำให้เกิดผลลัพธ์และอุปสรรคที่แตกต่างกัน แม้แต่ในเรื่องของ PRO บางประเทศก็มี PRO เดียว บางประเทศก็มีหลาย PRO โดยประเทศที่มี PRO มากกว่า 1 ราย ก็จะกำหนดบทบาทหน้าที่ของ PRO ให้แตกต่างกัน หรือเหมือนกัน เพื่อให้เกิดการแข่งขันในเชิงประสิทธิภาพ

สำหรับในประเทศไทย พอมีการนำเรื่องของ EPR หรือหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตเข้ามาใช้ ก็เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน เพราะจากชื่อหลักการนี้ กลายเป็นภาระเรื่องนี้ ต่อไปจะเป็นของผู้ผลิตแต่ฝ่ายเดียวใช่หรือไม่ หากใช่ แน่นอนว่า แรงต่อต้านมหาศาลจะเกิดขึ้น เพราะอาจกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศ เพราะอุตสาหกรรมถือเป็นส่วนที่สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศอย่างมหาศาล ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับทุกฝ่าย โดยเน้นย้ำว่า EPR ไม่ใช่ภารกิจของภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่แต่ละภาคส่วนจะต้องรับผิดชอบตามบทบาทในวงจรบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของหารหมุนเวียนบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน