“TIPMSE จับมือกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดตัวโครงการร่วมพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Packaging) ”
01 Febuary 2018
ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์


นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า พิธีเปิดตัวกิจกรรมการส่งเสริมและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Packaging) ภายใต้โครงการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ของประเทศไทย ในวันนี้ เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านบรรจุภัณฑ์ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากช่วยปกป้องสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคแล้ว ยังมีส่วนช่วยในด้านการตลาด การขาย และการสื่อสารกับผู้บริโภคได้ แต่ในปัจจุบัน ผู้ผลิตสินค้าอาจยังมองข้ามในแง่มุมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นในโครงการนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดการบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่ในขั้นตอนการออกแบบ จนถึงปลายทางการจัดการหรือที่เรียกว่าการจัดการอย่างครบวงจร (Closed Loop Packaging, CLP) ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากออกแบบไม่ดี ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาจเป็นภาระในขั้นตอนการจัดการหรือการกำจัดได้

โครงการนี้ สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานสำคัญใน ของส.อ.ท. ได้มีโอกาสเข้ามาร่วมเป็นที่ปรึกษา จึงถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ภาคอุตสาหกรรมไทยจะพัฒนาไปในทิศทางที่ดียิ่งขึ้น จึงอยากให้โครงการนี้ประสบผลสำเร็จ เพื่อให้เป็นต้นแบบกับอุตสาหกรรมรายอื่นต่อไป รวมถึงในอนาคต หากมีการขยายผลในโครงการนี้ไปในวงกว้าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมให้ความร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไป

          นางวันเพ็ญ รัตนกังวาล ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยกองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จึงได้จัดทำกิจกรรมการส่งเสริมและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Packaging) โครงการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ของประเทศไทยขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ให้มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก ตลอดจนการต่อยอดงานวิจัย พัฒนา และประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุน การจัดหาวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตภายในประเทศ เพื่อรองรับความต้องการด้านบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์อย่างต่อเนื่อง

         

         

 

วัตถุประสงค์หลักของโครงการนี้ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการด้านการออกแบบและพัฒนาต้นแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Packaging) เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าให้เกิดศักยภาพ ทางการแข่งขันในตลาดสากล โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) อันประกอบด้วย

  1. ผู้ประกอบการในสาขาอุตสาหกรรม S-Curve ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร เป็นต้น
  2. ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอนาคต New S-Curve ได้แก่ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) อาทิ ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและเวชภัณฑ์ ยาสมุนไพร เป็นต้น

 

ที่ผ่านมา แม้จะมีการให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการจัดการกาก-ของเสียเป็นหลักแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถมองข้ามได้ คือ บรรจุภัณฑ์ที่มีความสำคัญทั้งในแง่ของการค้า  การขนส่ง และมิติด้านสิ่งแวดล้อมของบรรจุภัณฑ์ โดยสามารถพิจารณาได้หลายแง่มุม ซึ่งการใช้การประเมิน วงจรชีวิต หรือ LCA เป็นวิธีหนึ่งในการเข้ามาช่วยให้สามารถตัดสินได้ว่า บรรจุภัณฑ์มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในขั้นตอนใด ดังนั้น การออกแบบที่ใช้หลักการ LCA เข้ามาช่วยนั้น  จะเป็นแนวทางที่กรมส่งเสริมอุตสาหรรมให้ความสนใจและสนับสนุนให้เกิดเป็นต้นแบบ โดยเฉพาะในโครงการนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหรรมมีกลุ่มเป้าหมายเป็น SMEs ที่มีต้นทุนไม่มากนัก แต่มีจำนวนมาก ซึ่งผลที่เกิดขึ้น จะเป็นต้นแบบให้ SMEs อื่นๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ นำไปใช้เป็นแนวทางต่อยอดต่อไปได้ในอนาคต

          เมื่อโครงการนี้สำเร็จ จะเป็นต้นแบบให้ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้เห็นถึงทิศทางในการพัฒนาบรรจุ-ภัณฑ์ ที่นอกจากจะมุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อให้เกิดผลประกอบการที่ดีแล้ว ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย อันจะนำไปสู่สังคมแห่งการบริโภคที่ยั่งยืนต่อไป นางวันเพ็ญกล่าว


< Back